ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การตัดขาดทุน (Cut loss)

ช่วงนี้ถ้าใครติดตามข่าวเศรษฐกิจ คงชวนให้กังวลและวิตกไม่น้อยเพราะเรื่องของ วิกฤติหนี้ยุโรป ที่กรีซก็ใกล้จะมาถึงจุดจบ และพบสัญยาณชัดเจนในการลามไปถึงสเปนและอิตาลี บวกกับแต่ละประเทศยังมีปัญหาการเมืองภายในที่เริ่มไม่สเถียร เพราะประชาชนต่างไม่ยินดีกับมาตรการรัดเข็มขัดอันแสนโหดของภาครัฐ เมื่อวิกฤติการเงินโลกกำลังจะประทุ แน่นอนว่ามันย่อมมีผลต่อการเคลื่อนไหวของกระแสเงิน(Fund flow) โลกที่ตลาดหุ้นมักจะกลายเป็นของร้อน ที่มีโอกาสเสี่ยงสูง กระแสเงินมักจะวิ่งไปหาสินทรัพย์ที่มั่นคงกว่าเช่น พันธ์บัตร ทองคำ ตลาดหุ้นทั่วโลกย่อมได้รับ ผลกระทบและมีแนวโน้มลดลงไปตามๆกัน

สำหรับนักเก็งกำไร ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการขาดทุน แล้วไม่จำกัดการขาดทุนปล่อยให้เงินทุน ค่อยหายไปหรือเน่าเสียไป หลายคนอาจจะเถียงว่า ไม่มีทางเป็นไปได้เพราะหุ้นไม่ขายไม่ขาดทุน วลีที่ใช้หลอกแมงเม่าหน้าใหม่ ผมเองไม่เคยเชื่อในคำนี้ เพราะว่าการไม่ขายหุ้น นั้นไม่ได้แปลว่าไม่ขาดทุน แท้จริงแล้วคุณขาดทุนทางโอกาส มีค่าเสียโอกาสของเงิน แทนที่จะนำไปลงทุนในครั้งใหม่ให้ได้กำไรเพิ่ม ถ้าคุณคิดว่าหุ้นดีไม่ขายไม่ขาดทุน อาจจะลองไปคุยกับคนที่มี PTT ตอนปี 2007 ที่ราคา 400 กว่าบาท หรือไปคุยกับคนที่ถือ TTA ตอนปี 2008 ที่ราคา 40 บาท โอกาสที่จะกลับไปอาจจะมี แต่ค่าเสียโอกาสของเงินก้อนนั้นที่เสียไปล่ะครับ??? ยิ่งบางคนกู้เงินจากแหล่งเงินที่อื่นมาเล่น ดอกเบี้ยย่อมต้องเสียไปอยู่ดี

ถ้าเราคิดจะเก็งกำไร ยังไงก็ต้องมีโอกาสผิดพลาด นั้นแหละครับคือความเสี่ยง หรือที่เรียกว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่เราไม่จำเป็นต้องไปกลัวความเสี่ยง เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง ไม่มีอะไรที่ 100% เราขับรถออกไปจากบ้านก็มีความเสี่ยงแล้ว ดังนั้นแทนที่จะกลัวความเสี่ยง เราควรจะเปลี่ยนมาเป็นการจำกัดความเสี่ยง จำกัดการขาดทุนให้น้อยที่สุดจะดีกว่า


ตัวอย่างดังภาพบน ถ้าเราปล่อยให้การขาดทุนรุกรามไปถึง 50% นั้นหมายความว่า เราต้องทำกำไร 100% เพื่อกลับมาชดเชยเงินทุนที่เสียไปให้เท่าเดิม ซึ่งความเป็นจริงนั้นไม่ง่ายเลย

เทคนิคการจำกัดขาดทุนง่ายๆคือการ Cutloss หรือที่เรียกว่าการตัดขาดทุน มันเปรียบเสมือนการตัดนิ้วรักษาชีวิต มันไม่ได้น่ากลัว หรือเลวร้ายจนเรารับไม่ได้ แต่คนทั่วไปที่ทำไม่ได้เพราะขาดระบบที่ดี คือชอบมาตัดขาดทุนตอนเสียไปแล้ว 20% - 50% แล้วพอตัดหุ้นก็เด้งขึ้นทำให้เสียความมั่นใจและเซ็งตัวเอง ปัญหาไม่ได้เกิดจากการ Cutloss แต่มันเกิดจากคุณ Cutloss ช้าเกินไป


ภาพที่สองนี้แสดงการเปรียบเทียบการตัดขาดทุน 2% กับ 10% พบว่ายิ่งปล่อยให้การขาดทุนมากขึ้นแล้ว ค่อยตัดขาดทุน โอกาสที่เราจะแพ้ต่อเนื่องและหมดตัวจะมีสูง โดยถ้ากำหนดการตัดขาดทุนที่ 10% ถ้าเราเทรดแพ้ต่อเนื่อง 19 ครั้ง นั้นหมายถึงเรามีโอกาสหมดตัว แต่ถ้าเราตั้งการตัดขาดทุนที่ 2% แม้ว่าเราจะแพ้ต่อเนื่อง 19 ครั้ง เงินต้นจะเสียหายเพียงแค่ 45% นั้นหมายถึงว่า เรายังมีโอกาสแก้มือกลับคืนมาง่ายกว่า

ควรประเมินการรับการขาดทุนง่ายๆคือ คิดจากเงินจำนวนหนึ่งที่ เราซื้อของแล้ว รู้สึกไม่เสียดาย??? เช่น ถ้าผมซื้อ โทรศัพท์มือถือ Iphone 4G ราคา 30000 ผมไม่เสียดายเลย หรือผมซื้อจักรยานยี่ห้อดาฮ่อนราคา 25000 ผมรู้สึกว่าไม่เสียดาย ให้เอาเลขนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วคำนวณหา ต้นทุนในการลงทุนแต่ละครั้งของคุณ เช่น ผมสามารถตัดขาดทุนได้ 30000 บาท 

ดังนั้น
ถ้าลงทุน 300,000 บาทโดย Cutloss ที่ 10%
ถ้าลงทุน 600,000 บาทโดย Cutloss ที่ 5%
ถ้าลงทุน 1,000,000 บาทโดย Cutloss ที่ 3%

โดยทั่วไปการตั้ง Cutloss ความเหมาะสมขึ้นกับระบบเทรด อย่างเช่นเทรดหุ้นเก็งกำไร ระยะสั้น ถ้าซื้อแล้ว ราคาลดลงเกิน 5% ก็ควรออกมาดูทิศทางลม หรือทบทวนเหตุผลได้แล้วเพราะโดยทั่วไปหุ้นเก็งกำไรซื้อแล้วไม่ขึ้นแปลว่ามีปัญหา หรือข้อผิดพลาด (ยกเว้นไปซื้อตอนขาลงนะครับ) ท่องไว้เลยถ้าคุณมองแนวโน้มถูก จังหวะถูกซื้อหุ้นแล้วจะมีโอกาสได้กำไร หุ้นต้องเคลื่อนตัวขึ้น

พื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์คือ จะไม่ยอมรับหรือยากที่จะยอมรับความล้มเหลว หรือการขาดทุน ดังนั้นการแก้ในส่วนนี้เพื่อให้ง่ายต่อการคิด คือเราต้องใช้ระบบตะกร้าเงิน ระบบนี้ผมเองคิดขึ้นมาเพื่อใช้กับตัวเองสมัยลงทุนแรกๆที่ทำใจได้ยากจะยอมรับการตัดขาดทุน ดังนั้นจึงแก้ด้วยการสร้างตะกร้าเงินสำรองขาดทุนขึ้นมา หลักการง่ายๆให้ใช้เงินที่กำไรสร้างเป็นตะกร้าเงินสำรอง เน้นนะครับว่าต้องกำไร เพราะมันจะได้ผลทางจิตวิทยาว่า นำกำไรมาลงทุน ดังนั้นเมื่อ ขาดทุนหรือต้องตัดขาดทุนจะเป็นการขาดทุนกำไร การสร้างตะกร้าเงิน วงเงินอาจจะมากว่า จำนวนเงินที่จะตัดขาดทุน นิดหน่อย เช่น ผมรับการตัดขาดทุนได้ 30000 ตะกร้าเงินก็จะมีขนาด 30000 + 10000 เอาไว้เผื่อขาด เป็นต้น

คนส่วนใหญ่ได้กำไรแล้ว มักจะไม่เก็บอาจจะนำไปลงทุนต่อ หรือนำไปใช้จ่าย ซื้อของ ให้รางวัลกับตัวเอง แต่การที่เราสร้างตะกร้าเงินด้วยกำไร มันจะช่วยสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้กับมือใหม่ๆ มากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการเข้าไปลงทุน โดยที่ไม่ต้องกังวลกับความกลัวที่จะขาดทุนจนหมดตัว หรือหมดเงินเก็บสะสมที่สร้างมา (นั้นคือเหตุปั่นทอนจิตใจมากที่สุด และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนมักไม่ประสบผลสำเร็จในการลงทุน)

การ Cutloss จริงๆใครก็รู้แต่ที่ทำไม่สำเร็จก็เพราะไม่ได้ฝึก ไม่เคยหัด หรือวางแผนเตรียมรับมือ มาก่อนพอถึงจังหวะที่ต้องตัดขาดทุน จิตใจเรามันจะสร้างเหตุผลมาต่อต้านเราจากสิ่งที่ปฏิเสธ หาข้ออ้างดีๆมาใช้ เช่น ไม่ขายไม่ขาดทุน หุ้นดีพื้นฐานยังดีอยู่ ใครๆเขาก็ยังไม่ขายถือต่อได้ บทวิเคราะห์บอกว่าปีหน้ากำไรแน่ๆ ตลาดหุ้นลงไม่นานเดี่ยวก็กลับขึ้นมา สุดท้ายพอไม่ทำตามระบบ ก็ขาดทุนเละย่อยยับ คุณต้องมานั่งน้ำตาตก หรือไม่ก็ไปยอมมอบตัวเมื่อโดน force sell หรือ ขาดทุนไป 30-50% แล้ว แบบนั้นความเสียหายจะยิ่งปานปลายและทำให้ cover กลับมายากยิ่งขึ้น คุณออกแรงมหาศาลเพื่อให้ได้ส่วนที่ขาดทุนหนัก กับคือมา ดังนั้นทุกครั้งที่เทรดหุ้น เราควรมองจุด cutloss ไว้เสมอ คิดว่าเป็นความเสี่ยงที่เรารับได้และประเมิน ไว้ จากนั้นจงมีวินัยเล่นตามระบบอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาเงินต้นทุนไว้ให้ได้ดีที่สุดครับ